หากพูดถึงพระเครื่องนั้น ในย่านตลาดพลู ผู้คนส่วนใหญ่ มักจะมีพระเครื่องของหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี เป็นพื้นฐาน แต่นอกเหนือจากพระเครื่องชิ้นสำคัญ ๆแล้ว ในพื้นที่นี้ ยังมีพระกรุ ที่ได้รับความนิยมไม่น้อยกว่ากัน นั่นคือ พระกลีบบัว เนื้อดิน ย้อนไปในปีพ.ศ.2511 เจดีย์เก่าหลังอุโบสถ วัดบางสะแกนอก เขตตลาดพลู ฝั่งธนบุรี ซึ่งสร้างมานานกว่า 100 ปี ได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ขณะที่พระลูกวัดกำลังทำความสะอาดบริเวณนั้นและช่วยกันรื้อพระเจดีย์เก่าเพื่อที่จะบูรณะใหม่ ก็ปรากฏ "พระเนื้อดิน" ไหลทะลักออกมาจำนวนมาก เมื่อเรื่องทราบถึงพระครูไพโรจนคุณ เจ้าอาวาสสมัยนั้น จึงให้ไปนำพระมาเก็บรักษาไว้ก่อนที่จะสูญหายหมด เรียกกันว่า "พระกรุวัดสะแกนอก" พุทธคุณเด่นๆแคล้วคลาด ปลอดภัย จนเป็นที่กล่าวขานครับ
"วัดบางสะแกนอก" เป็นวัดโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ประมาณปี พ.ศ.2090 ไม่ทราบนามและประวัติผู้สร้าง กาลเวลาได้ผ่านไปกลายเป็นวัดร้างในระยะหนึ่ง ขาดการบูรณะบำรุงรักษา ที่หน้าทางเข้าพระอุโบสถ หันหน้าออก อยู่ทางขวามือมีศิลาหินอ่อนสีดำ จารึกอักษรไทยสำนวนโบราณไว้ เมื่อพ.ศ.2377 ที่อ้างไว้ในศิลาจารึก อยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่3 (พ.ศ.2367-2394) ซึ่งได้โปรดให้ พระมหาทองดี หรือพระวรญาณมุนี มาทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัด ร่วมกับอุบาสิกาจิน ปาน เมือง อุบาสก ศุข มี ต่อจากนั้นท่านก็คงได้สร้างพระเครื่องบรรจุไว้ในเจดีย์เพื่อสืบทอดพระศาสนา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญการดูพระเนื้อดินก็ประมาณไว้ว่า พระกลีบบัวกรุวัดบางสะแกนี้อายุการสร้างประมาณยุคต้นรัตนโกสินทร์ ซี่งตรงกับที่จารึกของทางวัดได้บอกไว้