*** วัดใจ 20 บาท ***เหรียญกลมเล็กรุ่นแรก หลวงพ่อคำพอง ติสโส(ศิษย์พระอาจารย์มั่น) วัดป่าพัฒนาธรรม อ.หนองวัวซอ จ. อุดรธานี พ.ศ. ๒๕๒๙ สวยเดิม วัดใจ เคาะเดียว

ปิด สร้างโดย: sutad3352  (6491)(1)

เหรียญกลมเล็กรุ่นแรก หลวงพ่อคำพอง ติสโส(ศิษย์พระอาจารย์มั่น) วัดป่าพัฒนาธรรม อ.หนองวัวซอ จ. อุดรธานี พ.ศ. ๒๕๒๙ สวยเดิม วัดใจ เคาะเดียว

ประวัติหลวงพ่อคำพอง ติสโส

(๓) ออกบวช (พรรษาที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๘๖)

พอตัดสินใจแล้วก็ไปบอกโยมพ่อโยมลุงว่า ผมจะบวช

พ.ศ. ๒๔๘๖ เดือน ๕ ก็ไปอยู่วัด หลงปู่ขันให้ช่วยสร้างกุฎี เลื่อยไม้ ประกอบการงานในวัด กินข้าวเพียงมื้อเดียว ซึ่งมีความเหน็ดเหนื่อยเป็นธรรมดาของเด็กที่ยังไม่ได้รับการฝึกฝน

วันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ เดือน ๖ อายุ ๒๑ ปี หลวงพ่อก็อุปสมบทที่วัดมหาชัย ต.หนองบัว อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี โดยมีพระครูพิศาลคณานุกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ (วัดนี้หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่กรรมฐานภาคอีสานเคยมาพักเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖) พระอธิการจันทร์ จันทธัมโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พรรษาแรก ตั้งใจทำความเพียรอยู่กับหลวงปู่ขัน นั่งภาวนาแข่งกับพระที่วัด ใครนั่งได้ตลอดแจ้ง (ตลอดคืน) อดข้าวแข่งกัน ใครจะอดได้นาน

อดข้าวอยู่ได้ ๗ วัน ภาวนาตลอดคืนได้ ๒-๓ คืน ก็เพลีย สู้ไม่ไหว แต่ก็อยู่ได้ตลอดพรรษา

(๔) พบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ (พรรษาที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๗)

หลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อจิตใจวุ่นวายไม่อยากอยู่วัด เนื่องจากหลวงปู่ขัน เจ้าอาวาส ชวนสึกออกไปทำมาหากินด้วยกัน จึงลาจากวัดออกเดินทางด้วยเท้าไปพร้อมกับศิษย์มุ่งหน้าไปนมัสการพระธาตุพนม จ.นครพนม จนครบ ๑๕ วัน แล้วย้อนกลับมา จ.สกลนคร ถึงบ้านโนนงาน บ้านหนองบ่อ อ.นาแก จ.นครพนม แดดร้อนจัดและฉันน้ำกับลูกศิษย์อยู่ ระหว่างนั้นมีพระบ้านฉันน้ำด้วย เล่าให้หลวงพ่อฟังว่า

หลวงปู่มั่น อยู่บ้านนามน เป็นพระอรหันต์ แต่ด่าคนเก่ง

หลวงพ่อฟังแล้วมานั่งคิด ๆ ดูคำว่า หลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่น” นี่ไม่ใช่พระเล็กพระน้อย เป็นพระผู้ใหญ่ คงมีอายุพรรษาใหญ่โตแล้ว ยังไม่เคยเห็นท่าน เขาว่า ด่าคน” นี่มันจะเป็นไปได้หรือ ด่าล่ะ คงด่า แต่คงมีเหตุผลน่า จะไปด่าปู้ยี่ปู้ยำนี่คงเป็นไปไม่ได้ ท่านจะไปด่าโดยเสียจรรยามารยาทนี่ คงเป็นไปไม่ได้

เอ้า……ไปหาหลวงปู่มั่น ออกเดินทางไปบ้านกกดู่ ระหว่างทางพบพระอาจารย์วัน อุตตโม ได้เดินทางไปด้วยจนถึงเสนาสนะป่าบ้านนามน ต.ตองโขบ อ.เมือง จ.สกลนคร เวลาประมาณ ๕ โมงเย็น เข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น เรียนให้ทราบถึงเจตนาของการเดินทางมาหาท่าน ท่านว่ากุฎิยังไม่มี ไปอยู่กับท่านกงมา (พระอาจารย์กงมา ปริปุณโณ) บ้านโคก ค่ำลงก็มาฟังธรรมหลวงปู่ เทียวไปเทียวมา ไม่ไกลหรอก

ขณะนั้นหลวงปู่มั่นอายุได้ ๗๕ ปี ท่านได้เทศน์โปรดกัณฑ์แรกสั้น ๆ ว่า นะน้ำ โมดิน นะแม่ โมพ่อ กัมมัฏฐานห้า แขนสอง ขาสอง หัวหนึ่ง รวมเป็นปัญจกัมมัฏฐาน นี่เป็นมูลมรดกกัมมัฏฐาน” หลวงพ่อเดินทางไปฟังเทศน์หลวงปู่มั่นกับพระอาจารย์กงมาทุกคืนโดยไม่ขาดเลย

วันหนึ่งหลวงปู่มั่น ได้กล่าวทักขึ้น อ้าว ท่านคำพอง มานั่งฟังเทศน์อยู่ทำไม จวนจะคัดเลือกทหารแล้วไม่ใช่หรือ ประเดี๋ยวจะผิดกฎหมายนะ ไปเสียก่อน หากคัดเลือกทหารแล้วไม่ถูกค่อยกลับมา” (หลวงพ่อบวชก่อนคัดเลือกทหารและมิได้กราบเรียนให้หลวงปู่มั่นทราบแต่อย่างใด)

หลวงพ่ออยู่ฟังเทศน์หลวงปู่มั่นทุกคืนได้ ๓ เดือน. ก็กราบลาหลวงปู่มั่นไปคัดเลือกทหาร เดินทางด้วยเท้าจากบ้านนามนไปยัง จ.สกลนคร และต่อไปถึง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร มีรถยนต์รับหลวงพ่อไปส่งที่ จ.อุดรธานี สมัยนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ขาดแคลนน้ำมัน รถยนต์ใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง

หลังจากคัดเลือกทหารแล้วไม่ถูก ก็ตั้งใจจะกลับไปหาหลวงปู่มั่นอีก และเก็บของเครื่องใช้ หลวงปู่อ่อนศรี สุเมโธ (ศิษย์หลวงปู่มั่นอีกองค์หนึ่ง) ได้ชวนหลวงพ่อไปอยู่ด้วย ที่วัดบ้านกลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ท่านจึงจำพรรษาอยู่ที่นี่ ๑ พรรษา

(๕) พบพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี (พรรษาที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๘)

ออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อก็ออกธุดงค์ไปตามป่าเขา ถ้ำ ป่าช้า อยู่ที่ถ้ำเมฆจนถึงเดือน ๓ ก็ออกเดินทางไปพระบาทบัวบกบัวบาน เลยไปถึงถ้ำพระ จ.อุดรธานี และเดินต่อไปถึงถ้ำทาสี และถ้ำผาปู่ จ.เลย

ย้อนกลับมา จ.หนองคาย พบหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (ศิษย์ชั้นผู้ใหญ่ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต) จำพรรษาเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าอรัญวาสี อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย อยู่ฟังเทศน์กับหลวงปู่เทสก์จนครบ ๓ เดือน

(๖) ความเจ็บความตายที่ถ้ำพระ (พรรษาที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๘)

พ.ศ. ๒๔๘๘ ได้เวลาจวนเข้าพรรษา กราบลาหลวงปู่เทสก์ ได้ปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพระ ห่างจากวัดบ้านกลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ของหลวงปู่อ่อนสี ไปประมาณ ๕-๖ กม.

เกิดเป็นไข้มาลาเรียอยู่ในถ้ำองค์เดียว นอนหนาว ๆ ร้อน ๆ เพราะพิษไข้มาลาเรียอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้จะมองหาใคร ก็เลยบอกกับตนเองว่า เรากับถ้ำต้องเป็นผีคู่กัน” ปิดประตูถ้ำแล้วก็นอน ทั้งนอนทั้งลุกเป็นอย่างนี้ตลอดทำไปทำมาพอเจ็บเข้ามาก ๆ ก็ไม่รู้ว่าไปถึงไหน ความรู้สึกดับวูบไป ไม่รู้สึกตัวอยู่อย่างนี้ตลอด ๕-๖ วัน

พอไข้ทุเลาลง จำไม่ได้ว่าไปอยู่ที่ไหน ทำอะไร มองขึ้นไปข้างบนเห็นเพดานถ้ำ ก็เลยถามตนเองว่า

เรามาแต่ไหน มาทำไม มาทำอะไร

คิดทวนหน้าทวนหลัง คิดได้ว่า

เรามาภาวนาที่นี่ อยู่ที่นี่ เอ๊ะ.นี่เราเป็นไข้มานี่ เป็นมาหลายวัน จนรู้สึกตัวนี่

พอจวนสว่างก็รู้สึกไข้หายหมด

พอไข้หายก็ลองเดินจงกรมดูที่หน้าถ้ำ เห็นว่าพอเดินได้ พอบิณฑบาตได้ ก็อุ้มบาตรลงไปบิณฑบาตเลย แล้วกลับขึ้นมาฉันเป็นมื้อแรก หลังจากป่วยด้วยพิษไข้มาลาเรียมา ๕-๖ วัน

หลังจากนั้นไม่นานก็เป็นวันอุโบสถ (วันพระ) จึงลงไปจากถ้ำไปเข้าอุโบสถกับหลวงปู่อ่อนศรี

(๗) อยากสวดปาฏิโมกข์ได้ (พรรษาที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๘)

วันนั้นหลวงปู่อ่อนศรีเป็นหัวหน้านำลงอุโบสถ ท่านบ่นถึงเรื่องที่ท่านไม่สบายอยู่ และพระลูกวัดสวดปาฏิโมกข์ไม่ได้ (สวดวินัยสงฆ์ ๒๒๗ ข้อเป็นภาษาบาลี สวดองค์เดียวให้พระที่ลงอุโบสถฟัง ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง จึงจะครบทุกข้อที่พระพุทธองค์บัญญัติ) ท่านบอกว่า

เรานี่เลี้ยงลูกศิษย์ลูกหามาทำไม เลี้ยงมาแล้วทำไมไม่ช่วยเราสวดบ้าง จะให้ไอ้เฒ่านี้สวดไปถึงไหน เราจะตายอยู่แล้ว คนอื่นทำไมไม่เรียนกันบ้าง ศึกษากันบ้าง

คำพูดนี้มันเสียบเข้าไปในหัวใจหลวงพ่อ

เมื่อไหร่หนอเราจะอ่านหนังสือออกบ้าง ถ้าเราอ่านหนังสือออก เราจะสวดปาฏิโมกข์ถวายท่าน แต่เราก็ยังอ่านไม่ออก

พอลงอุโบสถเสร็จหลวงพ่อท่านขอหนังสือปาฏิโมกข์จากท่านเล่มหนึ่ง บอกท่านว่า

จะเอาไปบูชา

ท่านไม่อยากให้ ท่านว่า จะเอาไปกินสิงกินแสงอะไร เขียนชื่อเจ้าของก็ไม่ได้ จะเอาไปทำอะไร

หลวงพ่อยืนยันว่า จะเอาไปบูชา

ท่านก็เฉย ขออยู่ ๒-๓ ครั้ง ท่านโมโห หรือว่าอย่างไรก็ไม่รู้ ท่านให้เหมือนประชด ทิ้งหนังสือเพล๊ะ

เอ้า ไปกินขี้ไต้ไปเสีย” ว่างั้น

ได้หนังสือแล้วกราบลาท่าน ๓ ครั้ง สะพายย่ามกับบาตรขึ้นเขาไป

(๘) เหตุอัศจรรย์ที่ถ้ำพระ (พรรษาที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๘)

พอขึ้นมาถึงถ้ำพระไม่รู้จะทำอย่างไรเอาหนังสือปฏิโมกข์วางไว้บนหัวนอน แล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า

ถ้าหาก.ข้าพเจ้า จะได้สืบพระพุทธศาสนา ยังจะเป็นครูบาอาจารย์ ยังจะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของหมู่คณะ และจะยังรักษาพระธรรมวินัย ขอให้ข้าพเจ้าอ่านหนังสือออกด้วยเถิด ข้าพเจ้าอยากได้ หากเป็นไปไม่ได้ ข้าพเจ้าไม่สามารถจะคุ้มครองพระธรรมวินัย ไม่สามารถรักษาหมู่คณะได้ ก็ขออย่าให้ข้าพเจ้าได้ หากจะเป็นไป ก็ขอให้ข้าพเจ้าได้

จบคำอธิษฐาน ทำสมาธิทำใจให้เป็นกลางอย่างเด็ดขาด ไม่อยากรู้อยากเห็นต่อสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น

พลัน..ก็ปรากฏภาพนิมิตในสมาธิ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ด้านหน้าท่ามกลางแสงฉัพพรรณรังสีสาดสว่างทั่วถ้ำ ประทับอยู่ด้านหน้าตู้พระไตรปิฎก พระองค์ยื่นหนังสือสามเล่ม มอบกับหลวงพ่อ คือ พระสูตร ๑ พระวินัย ๑ พระปรมัตถ์ ๑ แล้วพระองค์เสด็จกลับขึ้นไปบนฟ้า แสงฉัพพรรณรังสีกระจายเต็มท้องฟ้าลับหายจากสายตาไป

หลังจากนั้นอีก ๒-๓ วัน ขณะที่หลวงพ่อทำสมาธิภาวนาจนจิตสงบเป็นสมาธิแน่วแน่ จะเป็นเพราะแรงอธิษฐานหรืออะไรไม่ทราบ มาดลบันดาลให้หลวงพ่อเห็นเป็นตัวหนังสือคล้าย ๆ กับที่เขียนไว้บนฝาผนังเป็นแถว ๆ แถวนี้อ่านอย่างนี้ ตัวนี้อ่านอย่างนี้ อ่านไปอ่านไปก็หมดให้เห็น แต่จำได้ว่า ตัวนี้อ่านอย่างนี้ ตัวนั้นอ่านอย่างนั้น ก็จำไว้

ทีหลังอยากจะได้ต่อไปอีก ก็ขออีก ได้ยินในหู เสียงให้อ่านอย่างนั้น อ่านตามเสร็จก็หมดไป หมดปัญญาที่จะอ่านอีก ก็อาศัยคำอธิษฐานว่า ขอให้ข้าพเจ้ารู้” ก็ได้ยินเสียงอ่านอีก ว่ากันไปเรื่อย ๆ นานเข้า ๓-๔ วัน ตัวเก่าที่เคยอ่านไว้ ก็จำไว้ได้ว่า ออกเสียงอย่างนี้เป็นตัวนี้ อันนี้เป็นตัว ก.ไก่ เหมือนกัน เพราะอ่านออกเสียง ก. เหมือนกัน ตัวที่อ่านไม่ได้ ก็มีเสียงมาบอก ตกลงอ่านไป สวดไป ราวสักเดือนหนึ่ง ก็จบปาฏิโมกข์

(๙) สอบทานการสวดปาฏิโมกข์ (พรรษาที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๘๘)

เมื่อสวดปาฏิโมกข์ด้วยเหตุอัศจรรย์ที่ถ้ำพระ หลวงพ่อก็ถือหนังสือ สะพายบาตรลงมาหาหลวงปู่อ่อนศรี เพื่อให้ท่านช่วยสอบทานให้ว่าถูกต้องเป็นความจริงไหม พอจะสวดให้ท่านฟัง ท่านก็ว่าเอา

พระผีบ้า มาสวดอุตริเอาอะไร หนังสือก็อ่านไม่ออกสักตัว จะมาอ่านปาฏิโมกข์ได้อย่างไร

หลวงพ่อก็เฉย แต่ตั้งใจว่า ถ้าท่านไม่อ่านทานให้ก็จะไม่ขึ้นเขาขึ้นถ้ำ จะนอนเฝ้าอยู่ที่วัดล่างนี้จนกว่าท่านจะสอบทานให้

ค่ำลงก็ไปนวดท่าน เล่าให้ท่านฟังและขอให้หลวงปู่สอบทานให้พรุ่งนี้ ท่านก็นอนเสีย ท่านไม่พูด หันไปพูดเรื่องอื่น นวดไปนวดมาจนถึงเที่ยงคืน ท่านก็บอกให้เลิก เลิกมาแล้วหลวงพ่อก็ยังมานั่งคิดว่า ท่านจะสอบทานให้หรือเปล่าหนอ คิดทวนหน้าทวนหลังอยู่อย่างนั้น

พอรุ่งเช้าฉันข้าวแล้วไปกราบท่านอีก ให้ท่านสอบทานให้ ทนฟังหลวงพ่ออ้อนวอนไม่ได้ ท่านก็ว่า เอามาได้จริงๆ หรือ"

หลวงพ่อถือหนังสือไปกราบลงถวายท่าน หลวงพ่อสวด ท่านก็อ่านสอบทานให้ ตัวไหนผิดท่านก็บอกให้ ตัวไหนลงไม่ถึงฐานอย่างตัว ถ. ถุง ตัว ฐ. ฐาน ตัว ณ เณร เป็นต้น เสียงออกจมูกไม่ค่อยถึงฐาน ท่านก็บอกว่าฐานไม่ถึง

หลังจากนั้น พอมีผู้รับรองว่าอ่านถูกต้อง ก็บอกกับตนเองว่า ทีนี้ล่ะ เราจะอ่านเจ็ดตำนาน อ่านสัมพุทโธ โยจักขุมา ไปสวดกับเขาบ้าง เราอ่านหนังสือออกแล้วทีนี้

ตกลงตั้งแต่นั้นมาอ่านหนังสือออกได้เรื่อยมา

(๑๐) เทศนาธรรม (พรรษาที่ ๓-๔ พ.ศ. ๒๔๘๘–๒๔๘๙)

นับตั้งแต่พรรษา ๓-๔ ขึ้นมา การบรรยายธรรมนี่แม้ในงานใหญ่ ๆ ต่อหน้าครูบาอาจารย์ ก็มักจะถูกให้ทำงานในเรื่องนี้มาตลอด ได้รับนิมนต์ไปบรรยายธรรมต่อหน้าครูบาอาจารย์ให้กับประชาชนและญาติโยม จะดีหรือไม่ก็ไม่รู้สมัยนั้นเพราะไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความเป็นอยู่

(๑๑) กลับไปหาพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี (พรรษาที่ ๓-๔ พ.ศ. ๒๔๘๘–๒๔๘๙)

ออกพรรษาแล้ว กราบลาหลวงปู่อ่อนศรี ออกธุดงค์จากวัดบ้านกลาง จ.อุดรธานี มุ่งหน้าไปสู่วัดป่าอรัญวาสี อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ไปกราบหลวงปู่เทสก์ และท่านได้ชวนให้หลวงพ่อจำพรรษาอยู่ด้วย ฟังเทศน์และปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่เทสก์ ในระหว่างนั้นหลวงปู่นิมิตเห็นภูเขาเล็กลูกหนึ่งที่ อ.ท่าแฉลบ จ.จันทบุรี

พอออกพรรษาหลวงปู่ก็ปรารภกับหลวงพ่อว่า วัดนี้ (วัดอรัญวาสี) มีเสนาสนะมาแต่เดิม ล้วนเป็นของครูบาอาจารย์ที่ท่านทำไว้ให้เราอยู่ทั้งนั้น (หลวงปู่มั่นเคยมาจำพรรษาที่นี่) ตัวเรานี้น่าละอายใจแท้ มานอนกินของเก่าเฝ้าสมบัติเดิมของครูบาอาจารย์แท้ๆ

ท่านบอกว่ากับหลวงพ่อว่า หลวงปู่มั่นท่านอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร ให้ไปอยู่ปฏิบัติธรรมกับท่านที่นั่น ตัวผมจะขอออกไปเที่ยววิเวกสักพัก

(๑๒) กลับไปหาพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (พรรษาที่ ๔-๗ พ.ศ. ๒๔๘๙–๒๔๙๒)

พ.ศ. ๒๔๘๙ หลวงพ่อได้กลับไปหาหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ที่ปฏิบัติธรรมและปฏิบัติรับใช้หลวงปู่อยู่ ๔ พรรษา

ในระยะที่อยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงพ่อได้มีโอกาสได้พบเห็นสิ่งต่าง ๆ ล้วนเป็นอุบายธรรมทั้งสิ้น

ได้เห็นหลวงพ่อครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ท่านมารวม ๆ กันอายุพรรษามาก ๓๐ ปีก็มี ๔๐ ปีก็มี เห็นท่านประพฤติปฏิบัติหลวงปู่มั่น เช่น พอถึงเวลาเข้าวัด ก็ช่วยกับอาบน้ำถูเนื้อถูตัวหลวงปู่มั่น เสร็จแล้วจัดที่นั่งที่นอน เตรียมไว้ให้หลวงปู่

หลวงพ่อมาคิดดูว่า เอ.. พระอายุพรรษาตั้งสามสิบพรรษา สี่สิบพรรษา น่าจะไปอบรมสั่งสอนญาติโยม หรือน่าจะไปเผยแผ่ศาสนาให้กับประชาชน คนที่เขายังตกต่ำในความรู้ความฉลาด เขาจะได้รันแสงสว่างบ้าง

เวลาดูเข้าไปนาน ๆ แล้ว โอโฮ้……มันไม่ใช่เรื่องอย่างนั้น มันเป็นเรื่องของส่วนภายใน ภายในด้านการปฏิบัติที่ยังเหลืออยู่ เกี่ยวกับสมาธิ เกี่ยวกับคลื่นภายในหัวใจ คือมันเกิดขึ้นแล้วคนไม่ช่ำชองแก้ไม่ได้ เป็นมลทินอยู่นั่นเอง

ถ้าผู้ปฏิบัติเกิดความรู้ความเห็น เกิดความสงสัยขึ้นมา ในเรื่องของความเห็น ความรู้ในด้านการปฏิบัตินั้น ไม่เหมือนกับเรารู้เราเห็นกันอยู่ในโลกนี้ อันนี้เป็นปัจจัตตังโดยเฉพาะผู้นั้นคือรู้เองเห็นเอง

รู้แล้วไปให้คนอื่นแก้ ถ้าไม่รู้ด้วยกันจะแก้ไม่ได้ คนอื่นเขาพูดไม่ถูกจุด

ทีนี้อย่างครูบาอาจารย์ท่านชำนาญ ท่านผ่านเรื่องนี้มามาก คือ เรื่องที่เรารู้เราเห็น ท่านผ่านมาก่อนแล้ว อย่างเราไม่เคยเจอก็เข้าใจว่าถึงแล้ว สิ้นสุดแล้ว ก็เลยเอาเพียงแค่นั้นไปปักใจลง เชื่อมั่นในอุบายเพียงแค่นั้น เข้าใจว่าหมดหนทางที่จะไปอีกไม่มีแล้ว

มันเกิดความสงสัย เมื่อไปถามครูบาอาจารย์ว่า ภาวนาไปมันปรากฏเรื่องอะไรขึ้นมาในจิตใจ เห็นอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา หลวงปู่ท่านก็ชี้แนะว่า อย่างนั้นไม่ใช่ความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ดับทุกข์ โดยสนิท ต้องเข้าไปอีก ต้องปฏิบัติอย่างนั้นต้องรู้อย่างนั้น แล้วต้องไปละสิ่งนั้นแล้วค่อยก้าวหน้าไปเรื่อยๆ

 ไปดูแล้ว..โอ ข้อวัตรปฏิบัติจำพวกภายนอก เช่นเคารพนบน้อมในข้อวัตรปฏิบัติ ไม่เผลอไม่พลาดมีสัจธรรมถึงเวลาแล้วต้องปฏิบัติ

ไม่ใช่เพียงแค่นี้ ยังลึกลงไปกว่านี้อีกไปดูเข้าแล้ว อ๋อ..อย่างนี้เอง ครูบาอาจารย์ที่มีอายุพรรษามากไปอยู่กับหลวงปู่มั่นกันเยอะ ท่านไม่ยอมถอนตัวไปง่าย ๆ ก็เพราะยังมีเรื่องให้ศึกษาอีกมากทั้งภายในและภายนอก

จึงค่อยเชื่อมั่นว่า อ้อ..อย่างนี้เอง ที่ครูบาอาจารย์ท่านยังไม่กล้าออกไปสร้างวัดสร้างวา ไปสั่งสอนญาติโยม ไปสั่งสอนหมู่พวกโดยเอกเทศ เพราะตนนั้นยังไม่พอ ที่จะให้ถึงที่สุดของการปฏิบัติ ท่านจึงมาศึกษาอบรมกันอยู่ทุกเวลา

หลวงพ่ออยู่ปฏิบัติรับใช้หลวงปู่มั่น มีโอกาสถวายการบีบนวดประจำ ได้สดับตรับฟังธรรม เห็นจริยาวัตรปฏิปทาครูบาอาจารย์เป็นแบบอย่างของการปฏิบัติฝึกฝนอบรมตน ข้อสงสัยในการปฏิบัติก็ได้รับการชี้แนะแก้ไขจนหายข้องใจ นับว่าเป็นวาสนาบารมีเป็นอย่างยิ่ง

(๑๓) เป็นเจ้าอาวาสวันไตรรัตน์ (พรรษาที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๙๑)

หลวงพ่อได้รับนิมนต์ไปเป็น เจ้าอาวาสวัดไตรรัตน์ บ้านท่าควายใต้ ต.ป่าสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม แทนหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่ติดภารกิจอื่นไม่อาจรับนิมนต์ ไปอยู่ได้ และหลวงพ่อก็ได้ทำหน้าที่เผยแผ่ ธรรมปฏิบัติ” จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชนแถบนั้น

ในการนี้หลวงพ่อได้ไปรับสามเณรสุบิน (น้องชายหลวงพ่อ) ซึ่งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสีได้บวชให้ แล้วส่งไปศึกษาที่วัดอัมพวัน จ.หนองคาย ให้มาอยู่ด้วยที่วัดไตรรัตน์ พอออกพรรษา หลวงพ่อก็ได้ไปปฏิบัติหลวงปู่มั่นที่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือตามปกติ

(๑๔) สูญเสียร่มโพธิ์ร่มไทร (พรรษาที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๙๒)

อยู่มาวันหนึ่งหลวงพ่อคำพองคิดถึงโยมพ่อ จึงออกเดินทางไปเทศน์ให้โยมพ่อฟัง พอจวนจะเข้าพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ หลวงพ่อก็กลับมาจำพรรษากับหลวงปู่มั่นตามเดิม

ในระยะนี้เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ทางหลวงปู่มั่นอาพาธหนัก ทางฝ่ายโยมพ่อก็ป่วยหนักเช่นกัน เป็นปัญหาสำหรับหลวงพ่อ ทำอะไรไม่ถูก แต่อาศัยได้ฟังธรรมเทศนาของหลวงปู่มั่นทำให้จิตใจท่านมั่นคงไม่หวั่นไหว ท่านจังตัดสินใจไปเยี่ยมโยมพ่อก่อน

พอไปถึงโยมพ่อก็เสียชีวิตแล้ว ท่านได้จัดการงานศพของโยมพ่อของท่านอย่างรวดเร็ว แล้วรีบเดินทางมาที่บ้านหนองผือ เพื่อปฏิบัติหลวงปู่มั่น ในขณะที่ท่านอาพาธ

ระหว่างทางก็ทราบข่าว หลวงปู่มั่นที่ท่านเคารพบูชาได้มรณภาพแล้ว เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ หลวงพ่อจึงได้เดินทางไปช่วยงานศพหลวงปู่มั่น ณ วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร จนถึงวันประชุมเพลิง วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓

(๑๕) เผยแผ่ธรรมภาคใต้ ๒๕ ปี (พรรษาที่ ๘–๓๒ พ.ศ. ๒๔๙๓–๒๕๑๗)

พ.ศ. ๒๔๙๓ หลังจากเสร็จงานฌาปนกิจศพหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต แล้ว หลวงปู่เทสก์ เทสรังสีได้รับหลวงพ่อไปเผยแผ่ธรรมปฏิบัติที่ภาคใต้ ในเขต จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา โดยมีหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ และพระเณรอีก ๘ รูป ติดตามไปด้วย ระยะแรกไปพักรวมกันที่สโมสรฝรั่ง จ.ภูเก็ต ๕-๖ วัน และต่อมาหลวงปู่ให้แต่ละองค์แยกย้าย ไปจำพรรษาตามสถานที่ต่างๆ

หลวงปู่เทสก์ ไปจำพรรษาที่สำนักสงฆ์หลังศาล จ.ภูเก็ต ต่อมาได้สร้างเป็นวัดชื่อว่า วัดเจริญสมณกิจ” หลวงปู่จำพรรษาที่นี่ ๑๕ ปี จนกระทั่งเป็นเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัดที่พระนิโรธรังสีคัมภีร์ปัญญาจารย์ ปกครองพระกัมมัฏฐานพระธรรมยุต ๓ จังหวัดภาคใต้ คือ ภูเก็ต พังงา และกระบี่

หลวงปู่เหรียญแยกไปจำพรรษาที่สำนักสงฆ์ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ได้สร้างวัดชื่อว่า วัดประชาสันติและจำพรรษาที่นี่ ๘ ปี ส่วนหลวงพ่อ ได้มาจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ต่อมาได้สร้างเป็นวัดชื่อว่า วัดราษฎร์โยธี” หลวงพ่อจำพรรษาที่นี่ ๒๓ ปี และที่ภูเก็ต ๒ ปี

เนื่องจากก่อนหน้าที่คณะกัมมัฎฐานหลวงปู่เทสก์จะได้มาจำพรรษาที่ภาคใต้นี้ ได้มีผู้มาเผยแผ่ธรรมไว้ก่อนและประโคมข่าวกันตื่นเต้นเอิกเกริกจนแตกแยกเป็นพรรคเป็นพรรคที่โคกกลอย จ.พังงา และไม่มีใครสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ เพราะไม่มีหมู่พวกจึงไปนิมนต์หลวงพ่อมาช่วยแก้ไขสถานการณ์

การไปเผยแผ่ธรรมปฏิบัติครั้งนี้ จึงได้มีพระคณะหนึ่งของท้องถิ่นและผู้คนในท้องถิ่นรวมหัวกัน กีดกันไม่ให้พระคณะของหลวงพ่อเข้าไปอยู่ด้วยประการต่างๆ เช่น ห้ามคนในท้องถิ่นใส่บาตร พระกัมมัฏฐาน วางยาเยื่อบ้าง จุดไฟเผากุฎีบ้าง ทำหนังสือแจ้งกรมการศาสนาว่าพระกัมมัฏฐานคณะนี้เป็นพระจรจัดไม่ปฏิบัติตามพระวินัย

หลวงพ่ออยู่จำพรรษาที่โคกลอย จ.พังงา ๒๓ ปีนี้ อยู่ด้วยการเผยแผ่ ธรรมปฏิบัติ” เนื่องจากครูบาอาจารย์ได้มาเผยแผ่ไว้แล้ว ครั้นจะถอยหนีเสีย ประชาชนก็ยังแตกแยกเป็นพรรคเป็นพวกอยู่ ความสามัคคียังไม่เกิดขึ้น ถ้าหนีไปเสีย บาปจะตกอยู่กับประชาชน คือเข้าใจผิด ทะเลาะเบาะแว้ง จะฆ่าจะแกงกันยังมีอยู่

หลวงพ่ออยู่แก้ความเห็นผิด จนกระทั่งพระท้องถิ่น มหานิกาย กับพระกัมมัฏฐาน (ธรรมยุต) ร่วมฉันภัตตาหารกันได้ จึงกลับอุดรธานี

สมัยก่อนนั้น ที่โคกลอยนี่ ถ้าคนที่เคยเข้าวัดบ้าน เคยสร้างกุฎี สร้างศาลา สร้างวัดกันมานมนานเพียงไรก็ตาม พอมาใส่บาตรพระกัมมัฏฐานเท่านั้นหละ ถ้าเขาตายลง ไปนิมนต์พระวัดบ้านมาสวด เขาจะไม่มาสวดเลย หลวงพ่ออยู่จนเรื่องเหล่านี้หมดไป สวดร่วมกันได้ จึงกลับอุดรธานี

โคกลอยที่หลวงพ่ออยู่นี่ แต่ก่อนเป็นไร่เป็นสวน เราเช่าเขาอยู่ เขาวางแผนให้เจ้าของที่ลงมา เพื่อซื้อที่เอาไว้ พอมีสิทธิในที่ดินแล้วเขาก็จะไล่พระที่อยู่นี่ออกหนีในกลางพรรษานั้นเลย

แต่เหมือนเทวดาบันดาล หรืออะไรก็ไม่รู้ พวกที่ไปดักซื้อที่จากเจ้าของที่ดินที่บ้าน คลาดกันไม่พบกัน เจ้าของที่ดินขึ้นรถเลยมาลงที่วัด ขณะที่หลวงพ่อฉันภัตตาหารเช้าเพิ่งเสร็จ ก็เปรยถามแกว่ามายังไง แกตอบว่าได้รับโทรเลขด่วนว่าแม่ป่วยหนักก็เลยลงมา หลวงพ่อบอกว่าแม่ไม่ป่วยหรอก เพิ่งมาทำบุญกลับไปยังมองเห็นหลังอยู่เลย ก็เลยขอให้แกนั่งพักเสียก่อน

ในระยะนั้นยางมีราคา ชาวบ้านที่มาทำบุญยังอยู่ราว ๓-๔ คน มีเงินติดกระเป๋าคนละพันสองพันบาท ก็เลยถามว่าจะขายที่ดินที่เช่าอยู่นี้ไหม แกบอกว่าขายจะขายหนึ่งหมื่นบาท พวกญาติโยมที่อยู่เลยช่วยกันควักกระเป๋าวางมัดจำไว้ก่อนส่วนที่เหลือทำสัญญาไว้ชำระภายหลัง

พอรับมัดจำแล้ว แกก็ไปบ้าน ไปหาแม่ พวกนั้นทราบข่าวก็นำหมู่ไปวางมัดจำขอซื้อที่ดินที่บ้านแก หวุดหวิดนิดเดียว เราวางมัดจำก่อนเค้าเพียงหนึ่งชั่วโมง ถ้าเขาวางมัดจำก่อนเรา เขาคงไล่เราออกกลางพรรษา ทำให้วัดราษฎร์โยธี ที่หลวงพ่อและชาวบ้านสร้างไว้ยังอยู่จนบัดนี้ ที่ตำบลโคกกลอย จ.พังงา

(๑๖) ความสงบที่โคกลอย จ.พังงา

หลวงพ่อได้อยู่อบรมสั่งสอนญาติโยมที่โคกกลอย ให้รู้จักพระพุทธศาสนาที่แท้จริง ทั้งได้ฝึกฝนสมาธิภาวนาทุกคืน จนมีผลประจักษ์แก่ญาติโยมตามกำลังศรัทธาและกำลังปฏิบัติของแต่ละคน ความขัดแย้งก็ยังมีอยู่ตลอดมา แต่ก็ได้มีเหตุการณ์ช่วยผ่อนคลายให้เกิดความสงบขึ้นมาโดยตลอดดังนี้

พระครูอ่อง เจ้าคณะตำบลโคกกลอย เป็นหัวเรือใหญ่ในการต่อต้านมิให้พระกัมมัฏฐานมาอยู่โดยตลอด ได้มีเหตุให้อาเจียนเป็นโลหิตถึงแก่มรณภาพ โดยหาสาเหตุไม่พบ

พระครูสิ้ว ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลองค์ต่อมา ก็สอบทอดเจตนารมณ์ของพระครูอ่อง ห้ามญาติโยมชาวบ้านมิให้ใส่บาตรพระกัมมัฏฐาน ก็มีอันเป็นไป อาเจียนออกมาเป็นโลหิตถึงแก่มรณภาพเช่นเดียวกัน

พระมหา ชั้น คนบ้านเชียงใหม่ ต.โคกกลอย จ.พังงา ไปเรียนอยู่ที่วัดน้อยนพคุณ ธนบุรี ถูกนิมนต์มาแทนพระครูสิ้วเพื่อให้ดำเนินการสืบทอดเจตนารมณ์ของพระครูอ่องและ พระครูสิ้วต่อไป ครั้งนี้ทำให้เกิดเรื่องราวใหญ่โต ถึงขนาดพระเล็กพระน้อยที่เดินบิณฑบาตตามหลังหลวงพ่อ ถูกลูกศิษย์พระมหาชั้นเตะตกถนนหลายครั้ง แต่หลวงพ่อให้เอาน้ำลูบหัวใจ เราอย่าไปก่อเรื่องกับเขา เตะเราก็ไม่ถึงตาย อดทนเอาเถิด พอเข้าปีที่ ๓ ท่านก็ประสบอุบัติเหตุตกลงจากรถคันที่นั่ง และรถคันที่นั่งก็ทับเอาถึงแก่มรณภาพไปอีกหนึ่งองค์

พระปลัดกูด จาก ต.กระไหล มาดำรงตำแหน่งแทนพระมหาชั้น และดำเนินการเช่นเดียวกับพระมหาชั้น ต่อมาก็อาเจียนเป็นโลหิตถึงแก่มรณภาพ โดยส่งโรงพยาบาลไม่ทัน

พระครูองค์ต่อมา จึงถือขันดอกไม้ไปขอขมาลาโทษต่อหลวงพ่อ เรื่องก็ระงับหยุดลง

เรื่องเหล่านี้คล้ายกับมีอะไรช่วยเหลือให้ภัยทั้งหลายหย่อนลง มิให้ลุกลามอีกต่อไป ชาวบ้านและหมู่พวกที่ต่อต้านพระกัมมัฏฐานก็รู้สึกสยดสยองต่อการมรณภาพของพระผู้นำในการต่อต้านทั้งสอง

สามองค์อาเจียนเป็นโลหิต ถึงแก่มรณภาพโดยส่งโรงพยาบาลไม่ทัน อีกองค์หนึ่งประสบอุบัติเหตุถูกรถทับถึงแก่มรณภาพ ห่างจากวัดท่านประมาณ ๖ กม.แรงต่อต้านก็อ่อนลงและหมดไปในที่สุด

หลวงพ่ออยู่จำพรรษาเป็น เจ้าอาวาสวัดราษฎร์โยธี ต.โคกกลอย ต.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ในตำแหน่งเจ้าคณะตำบล ฉายา พระครูสุวัณโณปมคุณ อยู่ถึง ๒๓ ปี รวมทั้งอยู่ที่ภูเก็ตอีก ๒ ปี รวมเป็น ๒๕ ปี

หลังจากอบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณรและชาวบ้านได้รู้เห็นและเข้าใจคุณค่าของพระพุทธศาสนา สร้างความเข้าใจและความสามัคคีให้เกิดขึ้น จนกระทั่งพระบ้านและพระกัมมัฏฐานฉันภัตตาหารและสวดร่วมกันได้ หลวงพ่อจึงกลับอีสาน จ.อุดรธานี

การอำลาจากภาคใต้นี้เป็นการอำลาด้วยมิตรไมตรีมีความเข้าใจดีต่อกัน เหลือไว้เพียงคุณงามความดีที่จะให้ถามถึงกันต่อไป หลวงพ่อสอนไว้ว่า

คนเราไม่ว่า จะไปอยู่ที่ไหนก็ตามหากดำรงคุณธรรมความดีให้มั่นคงไว้ เป็นผู้มีศีลธรรมอันดีงาม ย่อมเป็นที่รักนับถือของทุกคน

กฎมันไม่สามารถที่จัดหัวใจคนได้ นอกจากธรรมะหรือสติสัมปชัญญะ ความรอบรู้ ที่จะทำให้เกิดความเรียบร้อยได้

กฎหรือระเบียบต่าง ๆ หากยุติธรรมไม่มีติดที่ใจแล้วตราบใดจะมีรัฐธรรมนูญกฎหมายสักกี่ข้อ ก็ไม่สามารถจะสร้างความเรียบร้อย และสร้างความเป็นธรรมให้แกโลกนี้

ไม่ว่าทางวัดหรือทางบ้านก็ตาม ถ้าขาดคุณธรรมความพร้อมในการประพฤติปฏิบัติการงาน ก็บกพร่องได้

คนในโลกของเรา ไม่ว่าพระไม่ว่าฆราวาส ถ้าศีลของเราเศร้าหมองหรือจิตใจของเราเจือปนไปด้วยกิเลสอาสวะมาก ๆ แล้วเทพเจ้าเขาจะไม่คุ้มครองเรา เขาจะไม่อนุโมทนาในด้านการปฏิบัติและความเห็นความรู้ต่าง ๆ เขาจะไม่สนใจเพราะว่าพวกนี้ละเอียด

(๑๗) เหตุที่กลับอีสาน

ถาม หลวงพ่อถึงกลับอีสานไม่อยู่พังงาตลอดไปละครับ

หลวงพ่อ มีเหตุหลายเรื่องหลายประการ

ประการแรก ลูกหลานเหลนทางพังงานนี่เป็นคนมีเพื่อนมาก ประกอบการค้าเป็นส่วนใหญ่ จะให้เข้าบวชเป็นสมภารเจ้าอาวาสไม่ค่อยจะมี บวชได้เพียงแค่ ๓ เดือน ก็จะแย่อยู่แล้ว ผู้ที่สืบวงศ์สกุลไม่มี อยู่ไปก็อาศัยแต่ตัวเอง นำพระอีสานไปอยู่เพียงปีสองปีเขาก็กลับ

ประการสอง หลวงปู่เทสก์ท่านก็กลับ (หลวงปู่จำพรรษาที่วัดเจริญสมณกิจ จ.ภูเก็ต ๑๕ ปี ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ ฝ่ายธรรมยุต ในเขต จ.ภูเก็ต จ.พังงา จ.กระบี่ ในสมณศักดิ์พระราชาคณะสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาที่พระนิโรธรังสีคีมภีรปัญญาจารย์ ซึ่งพระกัมมัฏฐานพระธรรมยุตใน ๓ จังหวัดนี้มีกติกาข้อวัตรปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด) เมื่อหลวงปู่กลับ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัดแทนหลวงปู่เป็นพระทางใต้ ซึ่งข้อวัตรปฏิบัติมักไม่ลงกัน เนื่องจากทางใต้ ผู้ถือธุดงค์และปฏิบัติเคร่งครัดมีน้อย เราจะไปโต้แย้งเขา เขาเป็นผู้ใหญ่กว่า ก็จะเสียจรรยา เสียความเป็นอยู่ ขืนอยู่ไปนานๆ เข้าก็จะแยกเป็นสองพรรคสองพวก ทางใต้กับทางอีสาน เพราะการปฏิบัติไม่เข้ากัน

ประการที่สาม เรื่องของพัดยศสัญญาบัตร เดิมทีหลวงพ่อได้รับสัญญาบัตรเป็นพระครูชั้นตรีครั้งแรก หลวงพ่อไม่รู้เรื่องนี้ สมเด็จพระวันรัต วัดโสมนัสวรวิหาร ไปรับและส่งมาให้ อยู่ต่อมาตำแหน่งเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล ก็เหมือนกันท่านส่งมาให้โดยไม่ได้เขียนทำประวัติขอไปแต่อย่างใด มาคิด ๆ ดูว่าถ้าอยู่ไปๆ หากว่าเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัดองค์อื่น ๆ ไม่มี ถ้ามาถูกเราเข้าเรื่องมันจะมากขึ้น ผูกพันเข้า การประพฤติปฏิบัติก็ยังขัดข้องหมองอารมณ์ไม่เป็นไปตามความประสงค์ เป็นเจ้าคณะไปหละหลวมต่อหน้าที่ก็เสียมารยาทเสียจรรยา เสียจริยาของพระอธิการเข้า เสียหายถ้าเราไปมีตำแหน่ง บอกลบคูณหารว่าพอควร ๒๕ ปีแล้ว จึงกลับอุดรธานี

(๑๘) กลับอีสาน (พรรษาที่ ๓๓ พ.ศ. ๒๕๑๘)

หลวงพ่อได้สละตำแหน่งเจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาสวัดราษฎร์โยธี ต.โคกกลอย ต.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เดินทางกลับ จ.อุดรธานี โดยคิดว่าจะไปให้ถึง จ.เลย ไปพักอยู่ที่วัดบ้านวังหมื่น อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี

พอญาติโยมบ้านโนนหวาย รู้ข่าวก็พากันไปหาและอาราธนาหลวงพ่อมาอยู่ที่วัดป่าพัฒนาธรรม ต.โนนหวาย อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เนื่องจากได้ซื้อที่สร้างวัดสร้างกุฎีไว้แล้วแต่ไม่มีพระองค์ไหนอยู่ได้

หลวงพ่อได้ตามไปดูวัด พบว่ามีความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน เห็นว่า พระนั่นเขาไม่ดีก็คงอยู่ไม่ได้จริงๆ ไม่เคยอดทนไม่เคยต่อสู้ไม่รู้เหตุรู้ผล อยู่ไปอยู่ไปเดี๋ยวจะไปทะเลาะกับเขาก็เหมือนเอาน้ำมันก๊าดไปเทใส่ไฟ ยิ่งจะลุกไหม้กันไปใหญ่โต

อย่างหลวงพ่อนี่โดนมา รู้มา พอแรงแล้ว ใครจะด่าจะว่าเรื่องอะไร ก็รู้เรื่องกันหมด ก็นึกสงสารว่า ถ้าไม่มีพระอยู่ เขาลงทุนซื้อที่ดินไปแล้ว สร้างกุฎีมาแล้ว มันจะพังไปเสียเฉย ๆ ถ้าไม่มีใครอยู่ มันจะเสียน้ำใจเขา เสียความตั้งใจก็เลยอยู่จนบัดนี้ สิบกว่าปีเข้านี่แล้ว

(๑๙) จำพรรษาที่วัดป่าพัฒนาธรรม (พรรษาที่ ๓๓ พ.ศ. ๒๕๑๘)

หลวงพ่อดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลและเจ้าอาวาสวัดป่าพัฒนาธรรม ต.โนนหวาย อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ในฉายา พระครูสุวัณโรปมคุณ ซึ่งหลวงพ่อก็ปฏิบัติหน้าที่ไปด้วยความเมตตาธรรมเป็นที่ตั้ง

ตั้งแต่หลวงพ่อมาจำพรรษาที่วัดป่าพัฒนาธรรม ได้พัฒนาทั้งทางด้านจิตใจและด้านวัตถุควบคู่กันไปโดยตลอด การพัฒนาด้านจิตใจได้อบรมสั่งสอนพระเณร และญาติโยมให้เป็นผู้มีคุณธรรมรู้จักคุณค่าพุทธศาสนา ปฏิบัติภาวนาให้เกิดความสงบ ลดอาสวะกิเลสที่หมักหมมให้เบาบางลง

นอกจากนี้ยังได้บวชลูกหลานญาติโยมให้เป็นพระภิกษุสามเณร สร้างทายาทสืบต่อพระพุทธศาสนาทุกปีมิได้ขาด

ในด้านการศึกษา ได้สละเวลาไปอบรมศีลธรรมคุณธรรมให้กับครูและนักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ ในเขต อ.หนองวัวซอ พร้อมทั้งสนับสนุนให้ทุนทรัพย์ ทุนอุปกรณ์และเครื่องแบบนักเรียนที่ยากจน

การเทศนาอบรมสั่งสอนประชาชน หลวงพ่อได้กระทำต่อเนื่องมิได้ขาด เพื่อประโยชน์ในการเผยแผ่สืบทอดพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา หลวงพ่อได้ไปทุกแห่งหนไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นใด

การพัฒนาทางด้านวัตถุของหลวงพ่อได้สร้างศาลา กุฎี ห้องน้ำ ห้องส้วม ถังเก็บน้ำไว้ดื่มไว้ใช้ตลอดปี และพัฒนาวัดป่าพัฒนาธรรมให้เกิดความสงบร่มรื่น ต้อนรับผู้ไปกราบนมัสการหลวงพ่อทั้งใกล้และไกลทั่วประเทศ ให้ได้รับความสงบความสุขทั้งกายและใจ

มีผู้ปรารถนาจะให้หลวงพ่อสร้างโบสถ์ที่วัดป่าพัฒนาธรรมนี้ หลวงพ่อบอกว่า สร้างเศรษฐกิจให้ชาวบ้าน ชาวหนองวัวซอให้อยู่ดีกินดีเสียก่อน เมื่อชาวบ้านอิ่มปากอิ่มท้องแล้ว จะสร้างอะไรก็ได้ภายหลัง สร้างโบสถ์ยังไม่จำเป็น ขณะนี้ ศาลาที่ใช้อยู่ก็เป็นศาลาอเนกประสงค์ ใช้ได้ทั้งการลงอุโบสถ ทำบุญทำกุศล สำหรับชาวบ้าน ประชุมทำกิจกรรมในการพัฒนาตำบล และเป็นที่พักของคณะที่ไปกราบฟังธรรมจากหลวงพ่อได้เป็นอย่างดี

*****ทุกรายการ สะสมได้ โอนเมื่อพร้อม ในกรณี ราคาประมูล ไม่ถึง 100 บาท หากต้องการให้ส่ง ขอค่าส่งลงทะเบียน 15 บาท ส่งแบบอีเอ็มเอส 30 บาท  ขอบคุณครับ (รายการวัดใจมิได้มุ่งหวังกำไรหากไม่ช่วยค่าส่งขออนุญาติส่งแบบติดแสตมป์ธรรมดานะครับ)*****


เหลือเวลา
รายการปิดแล้ว!

วันที่เริ่ม January 21, 2020 06:31:37
วันที่ปิดประมูล January 22, 2020 18:37:49
ราคาเปิด15
เพิ่มครั้งละ5
ธนาคารธนาคารกรุงไทย (อนุสาวรีชัยฯ) ,

ra bankaow

ผู้เสนอราคาล่าสุด

20

ราคาล่าสุด


ความคิดเห็นจากผู้ซื้อ


ได้รับพระแล้ว ขอบคุณครับ


ra bankaowFebruary 03, 2020 14:11:16

ความคิดเห็นจากผู้ขาย


+1 Auto Feedback


sutad3352February 22, 2020 18:38:00

รายละเอียดเพิ่มเติม

ความเห็นจากเพื่อนสมาชิก

ประวัติการประมูล

ประวัติการเสนอราคา

ชื่อสมาชิก/วันที่เสนอราคา เสนอ

ประวัติการเสนอราคา

เหลือเวลา
รายการปิดแล้ว!


ต้องการเข้าร่วมประมูล !

ท่านต้องเป็นสมาชิกที่ผ่านการยืนยันตัวตนแล้วเท่านั้น